กำเนิดธงสยาม

กำเนิดธงสยาม

ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มีการนำสัญลักษณ์ต่าง ๆ มาประดับบนธงพื้นสีแดงเพิ่มเติมเพื่อใช้เป็นธงสำหรับเรือหลวง ในกฎหมายธงสมัยรัชกาลที่ 1 ได้กล่าวว่า “พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มรูปจักรสีขาวลงในธงแดง สำหรับใช้เป็นธงของเรือหลวง” สาเหตุที่พระองค์กำหนดให้ใช้ “จักรสีขาว”ลงไว้กลางธงผ้าพื้นแดงสำหรับชักในเรือกำปั่นหลวง เพื่อแสดงความแตกต่างระหว่างเรือของพระมหากษัตริย์ กับเรือของราษฎรสยาม ที่ใช้ธงผ้าพื้นแดงเกลี้ยง

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระองค์ทรงได้ช้างเผือกเอก 3 ช้าง คือพระยาเศวตกุญชร พระยาเศวตไอยรา และพระยาเศวตคชลักษณ์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มรูปช้างเข้าภายในวงจักรสีขาวของเรือหลวงไว้ด้วย อันมีความหมายว่า พระเจ้าแผ่นดินอันมีช้างเผือก แต่ธงช้างอยู่ในวงจักรใช้แต่เรือหลวงเท่านั้น เรือพ่อค้ายังคงใช้ธงแดงตามเดิม

ธงช้างเผือกเปล่าได้ใช้เป็นธงชาติสยามสืบมานานถึง 84 ปี กินระยะเวลารวมถึง 4 รัชกาล จนกระทั่งในวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2459 ตามบันทึกในหนังสือวชิราวุธานุสรณ์ ๒๔๙๖ ของจมื่นอมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช) ได้บันทึกว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดเขาสะแกกรัง (ปัจจุบันคือวัดสังกัสรัตนคีรี) ในเมืองอุทัยธานี ซึ่งขณะนั้นประสบเหตุอุทกภัย และในยุคนั้นธงช้างถือว่าเป็นของหายาก มีราคาแพง เพราะต้องสั่งทำจากต่างประเทศ อีกทั้งธงช้างที่มีขายบางแบบนั้นผลิตมาจากประเทศที่ไม่รู้จักช้าง รูปร่างของช้างที่ปรากฏจึงไม่น่าดู แม้กระนั้น ก็ยังมีราษฎรคนหนึ่งซึ่งตั้งใจรอรับเสด็จหาธงช้างมาได้ แต่ด้วยความประมาทจึงประดับธงผิดด้าน กลายเป็นประดับกลับหัว ซึ่งเป็นการสื่อเจตนาที่เสื่อมเสียแก่พระเกียรติยศ เนื่องจากเป็นลักษณะของช้างเผือกล้ม ซึ่งส่อให้เห็นเป็นลางร้ายได้ว่าพระมหากษัตริย์อาจเสด็จสวรรคตเร็วกว่าปกติ พระองค์ทอดพระเนตรเห็นเหตุการณ์ดังนั้นจึงทรงมีพระราชดำริว่า ธงชาติต้องมีรูปแบบที่สมมาตร และราษฎรสามารถทำใช้เองได้จากวัสดุภายในประเทศ เพื่อมิให้เกิดปัญหาดังกล่าวขึ้นอีก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนรูปแบบธงชาติ เป็นธงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีแถบยาวสีแดง 3 แถบ สลับกับแถบสีขาว 2 แถบ ซึ่งเหมือนกับธงชาติไทยในปัจจุบัน แต่มีเพียงสีแดงสีเดียว ซึ่งธงนี้เรียกว่า ธงแดงขาว 5 ริ้ว (ชื่อในเอกสารราชการเรียกว่า ธงค้าขาย) ทั้งนี้ สำหรับหน่วยงานราชการของรัฐบาลสยามยังคงใช้ธงช้างเผือกเป็นสัญลักษณ์ แต่เป็นแบบทรงเครื่องยืนแท่น ซึ่งแต่เดิมธงนี้เป็นธงสำหรับเรือหลวงมาตั้งแต่ พ.ศ. 2440 และมีฐานะเป็นธงราชการอยู่ก่อนแล้วตั้งแต่ พ.ศ. 2453

แต่ต่อมามีการค้นพบหลักฐานใหม่ ซึ่งพบว่ารัชกาลที่ 6 ได้มีพระราชประสงค์ในการเปลี่ยนและเพิ่มแบบธงสำหรับธงสำหรับชาติสยามใหม่ สำหรับประชาชนเพื่อใช้ในการค้าขาย ล่องเรือระหว่างประเทศและใช้ประดับบนบกอยู่แล้ว ซึ่งมีบันทึกอยู่ในเรื่องเปลี่ยนธงสำหรับชาติสยาม (8 พ.ค. – 6 มิ.ย. 2459) โดยมีการบันทึกว่า “เพราะ การค้าขายของเรานั้นเห็นว่าจะเจริญแล้ว จึงได้ใช้ธงชนิดนี้ขึ้นใหม่สำหรับการค้าขาย และเป็นธงทั่วไปด้วย นอกจากธงราชการ” และมีจดหมายเหตุรายวัน เล่ม 2 พระพุทธศักราช 2459 วันที่ 14 กันยายน ถึง วันที่ 10 มีนาคม ซึ่งเป็นลายพระหัตถ์ของรัชกาลที่ 6 ได้ระบุว่า “วันพฤหัสบดีที่ 14 (กันยายน 2459) เวลาเข้า 4 โมงเศษ ไปลงเรือเก่ากึ่งยามที่ท่าวาสุกรี เรือกลไฟจึงขึ้นมาตามลำน้ำ แวะกินกลางวันที่วัดไก่เตี้ย แขวงเมืองประทุมธานี, และเดินเรือต่อมาจนค่ำถึงบางปะอิน; พักแรม 1 คืน” ซึ่งหมายความว่าวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2459 รัชกาลที่ 6 ยังทรงประทับพักแรมอยู่ที่พระนคร ไม่ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดเขาสะแกกรังตามบันทึกของจมื่นอมรดรุณารักษ์ และเนื่องจากจดหมายเหตุรายวันเป็นลายพระหัตถ์ของรัชกาลที่ 6 จึงเป็นหลักฐานที่หนาแน่นและน่าเชื่อถือที่สุดในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีปรากฏในข่าวในพระราชสำนักประจำวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2459 ในราชกิจจานุเบกษาอีกด้วย โดยระบุว่า “วันนี้เวลาบ่าย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์           พระที่นั่งยังสนามฟุตบอลสโมสรเสือป่า ทอดพระเนตรการแข่งขันฟุตบอล ระหว่างสโมสรฟุตบอลกรมมหรสพ กับสโมสรฟุตบอลกระทรวงยุติธรรม เมื่อเสร็จการแข่งขันแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานถ้วยหลวงใหญ่แก่สำรับกรมมหรสพ ซึ่งเป็นพวกที่ชนะในการแข่งขันฟุตบอลสำหรับถ้วยหลวงใหญ่ปีนี้ เมื่อพระราชทานรางวัลเสร็จแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับทอดพระเนตรกระบวนแห่ถ้วยหลวงใหญ่ แห่ถ้วยไปยังสโมสรสถานกรมมหสพ” จึงเป็นอีกหนึ่งหลักฐานที่ยืนยันได้ว่ารัชกาลที่ 6 ไม่ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดเขาสะแกกรังในวันดังกล่าวตามที่จมื่นอมรดรุณารักษ์ได้บันทึกไว้

 

 

 ธงแดงเกลี้ยง สำหรับใช้เป็นที่หมายของเรือสยามโดยทั่วไป (ยังไม่ใช่ธงชาติสยาม) นับตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา

 

ธงเรือหลวงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (พ.ศ. 2325)

 

ธงเรือหลวงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (พ.ศ. 2360)

 

ธงช้างเผือกธงชาติสยามในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

ธงไตรรงค์ นับตั้งแต่ พ.ศ. 2460 – ปัจจุบัน

 

 

ที่มา จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

Skip to content
ข้ามไปยังทูลบาร์