ความเป็นมาของหน่วยอนุรักษ์ฯ

ความเป็นมาของหน่วยอนุรักษ์ฯ

สืบเนื่องจากคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม และ 28 สิงหาคม 2527 เห็นชอบในหลักการแผนพัฒนาการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมศิลปกรรม โดยเจตนารมณ์ของแผนเน้นการพัฒนาวิธีการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมศิลปกรรมให้เป็นระบบ โดยให้มีการศึกษาอบรมและประชาสัมพันธ์แก่ประชาชนให้มีความรู้ความเข้าใจ เพื่อเป็นการป้องกันที่ต้นเหตุ ให้มีหน่วยงานดูแลและตรวจสอบเพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาลุกลามเกินกว่าจะแก้ไขได้ ให้มีมาตรการควบคุมการใช้พื้นที่ให้เป็นไปตามกฎหมาย เพื่อให้การพัฒนาเป็นตามหลักการที่ถูกต้องเหมาะสม และประสานประโยชน์แก่ท้องถิ่นและประเทศชาติโดยส่วนรวมในท้องถิ่น

นอกจากจะมีมรดกทางวัฒนธรรมแล้ว ยังมีแหล่งวัฒนธรรมอันควรอนุรักษ์ ซึ่งมีแนวทางอนุรักษ์และดำเนินการในลักษณะเดียวกัน คือ การคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมศิลปกรรม ซึ่งสอดคล้องกับสาระในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 6 2532-2534 ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่เสนอให้มีการปรับปรุงองค์กร ระดับทางด้านสิ่งแวดล้อมศิลปกรรมที่มีอยู่แล้วในทุกจังหวัดให้ครอบคลุมสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ และต่อมาในปี พ.ศ.2545 รัฐบาลได้มีการพัฒนาระบบราชการ ที่มุ่งเน้นให้มีการบริหารจัดการอย่างบูรณาการ ซึ่งการบริหารการจัดการในเรื่องสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมศิลปกรรม เป็นเรื่องที่มีความสัมพันธ์และมีผลกระทบซึ่งกันและกัน

ด้วยเหตุนี้ (เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2544 วันที่ 30 มกราคม และ 11 กุมภาพันธ์ 2546 ตามลำดับ) สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงเสนอให้คณะอนุกรรมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม ซึ่งเป็นคณะอนุกรรมภายใต้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อการ เพิ่มบทบาทของหน่วยอนุรักษ์ฯ หน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมท้องถิ่น (Local Units for Conservation of Natural and Cultural Environment: LUCNCE) โดยมีบทบาทหน้าที่ในการดำเนินงานด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติ ความคู่กันไปการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมศิลปกรรม

ดังนั้น จึงมีการยกระดับจากหน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมศิลปกรรม เป็น หน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมท้องถิ่น ในพื้นที่ 76 จังหวัด (ยกเว้น กรุงเทพมหานคร) ซึ่งตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยราชภัฏ 30 แห่ง โรงเรียน 43 แห่ง และสถาบันการพลศึกษา 3 แห่ง โดยมีวัตถุประสงค์ ให้เป็นหน่วยงานในท้องถิ่นที่ช่วยเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมให้แก่ประชาชนในท้องถิ่น นอกจากนี้ หน่วยอนุรักษ์ฯ ยังทำหน้าที่อบรมและประชาสัมพันธ์ ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม และเป็นหน่วยตรวจสอบดูแลป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมที่ต้นเหตุ

Skip to content
ข้ามไปยังทูลบาร์