วัดลาดเค้า 360 องศา

ข้อมูลทั่วไป

วัดลาดเค้า(ร้าง) ตั้งอยู่ในเขตตำบลโนนเหล็ก อำเภอเมืองอุทัยธานี จังหวัดอุทัยธานี จากข้อมูลการขุดตรวจทางโบราณคดี พบหลักฐานที่มีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๓-๒๕ ซึ่งตรงกับช่วงสมัยอยุธยาตอนปลายจนถึงช่วงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ทำให้สันนิษฐานได้ว่าสมัยแรกที่มีการก่อสร้างและใช้งานโบราณสถานมีอายุอย่างน้อยในช่วงอยุธยาตอนปลาย และได้ถูกทิ้งร้างลงช่วงเวลาหนึ่ง แล้วได้มีการกลับมาใช้งานโบราณสถานอีกครั้งในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น จากนั้นก็ถูกทิ้งร้างลงอีกครั้ง ระหว่างนั้นก็ได้มีการรบกวนพื้นที่และได้ถูกลักลอบขุดหาสมบัติในพื้นที่หลายครั้ง จนล่าสุดได้มีการเข้าใช้งานในพื้นที่จากคณะสงฆ์ของจังหวัดอุทัยธานีอีกครั้งในปี พ.ศ. ๒๕๖๑

วัดลาดเค้า (ร้าง) เป็นโบราณสถานที่ยังไม่ได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานจากกรมศิลปากร ยังไม่เคยมีการดำเนินการหรือมีบันทึกที่กล่าวถึง พบเพียงรายชื่อในทะเบียนรายชื่อวัดร้างและที่ดินศาสนสมบัติกลาง อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี โฉนดที่ดินเลขที่ ๒๒๒๕๙ มีเนื้อที่ ๑๘ ไร่ ๓ งาน ๑๔ ตารางวา

ลักษณะทางสถาปัตยกรรม : พื้นที่บริเวณวัดลาดเค้า(ร้าง) มีลักษณะเป็นเนินดินสูงประมาณ ๑.๕ เมตร อยู่ท่ามกลางที่ราบลุ่ม พื้นที่โดยรอบเป็นนาข้าว บนเนินมีการปลูกต้นไม้ยืนต้นทั่วพื้นที่ มีโบราณสถานที่ปรากฏหลักฐานให้เห็นอยู่บนพื้นที่เป็นโบราณสถาน ๒ แห่ง ได้แก่
๑. วิหาร เป็นอาคารผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดกว้าง ๘.๑๐ เมตร ยาว ๑๗.๔๐ เมตร ก่ออิฐถือปูน ขนาดอิฐที่ใช้กว้าง ๑๔-๑๕ เซนติเมตร ยาว ๒๘-๓๐ เซนติเมตร หนา ๔-๖ เซนติเมตร ผนังแต่ละด้านมีความหนาที่พบไม่เท่ากัน เฉลี่ยประมาณ ๔๐-๖๐ เซนติเมตร มีร่องรอยการฉาบปูนที่ฐานบัวคว่ำ พื้นภายในของวิหารปูด้วยอิฐ ใช้อิฐขนาด ๑๕x๓๐x๕ เซนติเมตร ปูชั้นเดียวด้านตะวันตกของวิหาร เป็นแนวฐานก่ออิฐก่อเป็นกรอบภายในถมด้วยดิน คาดว่าน่าจะเป็นฐานชุกชี ด้านตะวันออกพบการก่ออิฐคล้ายช่องประตูและบันไดทางขึ้น ฐานของวิหารก่ออิฐวางอยู่บนชั้นพื้นดินธรรมชาติที่มีความแน่นมาก โดยก่อลึกลงในดินประมาณ ๓๐ เซนติเมตร โครงสร้างหลังคาน่าจะเป็นเครื่องไม้มุงด้วยกระเบื้องดินเผาแบบกระเบื้องกาบกล้วย
๒. เจดีย์ เป็นเจดีย์ก่ออิฐฐานเขียงสี่เหลี่ยม ถัดจากฐานเขียงขึ้นไปเป็นฐานบัวคว่ำบัวหงาย มีลักษณะพิเศษตรงที่ทำลวดบัว ๒ เส้นซ้อนกัน ถัดขึ้นไปเป็นฐานหน้ากระดานยกสูงขึ้น ที่ด้านบนอาจจะก่อเป็นพนักระเบียงของลานประทักษิณ ที่พนักระเบียงเจาะเป็นช่องรูปกากบาท เหนือส่วนฐานบริเวณเรือนธาตุ ทำเป็นฐานบัวหรือฐานสิงห์ในผังย่อมุมไม่ยี่รับ เรือนธาตุก่อเป็นซุ้มทั้งสี่ทิศ พบร่องรอยว่าอาจเจาะเป็นช่องเข้าคูหาด้านใน หรือเกิดจากการขุดหาสมบัติในสมัยหลัง ส่วนฐานที่รองรับองค์ระฆังเป็นฐานบัวคว่ำบัวหงายในผังวงกลมท้องไม่มีลวดบัว ๔ เส้น องค์ระฆังยึดสูง บัลลังก์อยู่ในผังแปดเหลี่ยมทำเป็นฐานบัวคว่ำบัวหงาย ก้านฉัตรอยู่ในผังวงกลม บัวฝ้าระมี ปล้องไฉนเป็นวงแหวนต่อกันแต่ละชั้นทำไม่เท่ากัน ส่วนปลียอดหักหาย

มุมมอง Street View 360


บรรยากาศภายในบริเวณวัด

Skip to content
ข้ามไปยังทูลบาร์