วัดทัพทันวัฒนาราม

วัดทัพทันวัฒนาราม
ที่อยู่: ตำบล ทัพทัน อำเภอ ทัพทัน อุทัยธานี 61120

อาณาเขตติดต่อ 

ทิศเหนือ จรด ถนนสาธารณประโยชน์             ทิศใต้  จรดถนนสาธารณะประโยชน์

ทิศตะวันออก  จรด ถนนสาธารณประโยชน์      ทิศตะวันตก  จรดถนนสาธารณะประโยชน์แะละที่ดินเอกชน

วัดทัพทันวัฒนาราม สร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๓๗ จากศรัทธาของประชาชน ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๕๒ เขตวิสุงคามสีมากว้าง ๑๓ เมตร ยาว ๒๑ เมตร ชาวบ้านเรียกว่าวัดทัพทัน  เดิมเขียนว่า ทับทัน โดยกล่าวถึงประวัติอำเภอทัพทันว่า เมื่อครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยาได้ถูกข้าศึกรุกราน กองทัพไทยทำการขับไล่ข้าศึกถอยร่นจากเมืองกำแพงเพชรมาทางเมืองอุทัยธานี ซึ่งฝ่ายไทยได้ยกทัพติดตามข้าศึกมาทัน ณ ที่แห่งนี้ และทำการโจมตีจนข้าศึกแตกพ่ายไป ชาวบ้านจึงได้เรียกท้องที่นี้ว่า “ทัพทัน” ภายในวัดฯ มีเสนาสนะ ประกอบด้วย อุโบสถ ศาลาปฏิบัติธรรม ศาลาการเปรียญ หอสวดมนต์ กุฏิสงฆ์ วิหาร หอระฆัง ศาลาบำเพ็ญกุศล และฌาปนสถาน ปัจจุบันมีพระครูอุโฆษธรรมวิสุทธิ์ (อ่านว่า พระ-ครู-อุ-โคด-ทำ-วิ-สุด) เป็นเจ้าอาวาส มีพระสงฆ์และสามเณร จำนวน 9 รูป

รูปแบบแผนผังอาคารเสนาสนะต่างๆ ภายในวัดทัพทันวัฒนาราม  ประกอบด้วย อุโบสถ  หันหน้าไปทางทิศตะวันออก  โดยรอบมีฐานและซุ้มประดิษฐานเสมาทั้ง ๘ ทิศ ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว ด้านหน้าอุโบสถทางทิศตะวันออกมีเจดีย์ราย ๔ องค์ เป็นเจดีย์ทรงปราสาทยอด

ภายในวัดมีพระอุโบสถเก่าแก่ คาดว่าสร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ ผังรูปสี่เหลี่ยมขนาดกว้าง ๖.๕๐ เมตร ยาว ๑๕.๗๐ เมตร หันหน้าไปทางทิศตะวันออก เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนทรงโรง หลังคาเป็นเครื่องไม้ทรงคฤห์ซ้อนชั้น  มีปีกนกยื่นออกมาทางด้านยาว ด้านสกัดตัดตรงไม่มีปีกนก  เดิมเป็นหลังคามุงกระเบื้องดินเผา มีลวดลายประดับหน้าบันและซุ้มหน้าต่าง เรื่องรามเกียรติ์ ส่วนล่างเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ

หน้าบันด้านหลังตกแต่งด้วยประติมากรรมปูนปั้นเขียนสีเช่นเดียวกัน  ส่วนบนเป็นภาพพระพุทธรูปประทับนั่งแสดงปางสมาธิอยู่บนฐานรูปดอกบัว ตรงกลางเป็นภาพจับในเรื่องรามเกียรติ์ และพระเวสสันดร

ด้านหน้าอุโบสถทำเป็นมุขโถง  มีประตูทางเข้า ๒ทาง ภายในอุโบสถเขียนจิตรกรรมฝาผนัง ฐานชุกชีปูนปั้นเขียนสีรูปสิ่งของมงคล และทิวทัศน์แบบอิทธิพลศิลปะจีน ปัจจุบันประดิษฐานพระพุทธชินราชจำลองเป็นพระประธาน

ภายในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมที่สำคัญคือ  เรื่อง อสุภกรรมฐาน (อะ-สุ -พะ-กำ-มะ-ถาน) ๑๐ ประการ  จารึกว่าสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๖๒ ซึ่งเป็นภาพการบำเพ็ญกรรมฐานที่ยึดเอาซากศพเป็นอารมณ์ เพื่อพิจารณาให้เห็นความไม่งาม ความไม่เที่ยงแท้ของสังขาร เป็นภาพโทนสีเข้มออกดำ เป็นลักษณะของซากศพที่เขียนใบหน้าเสมือนจริง นำรูปแบบมาจากวัดอุโปสถาราม (อุ-โป-สะ-ถา-ราม)

ลักษณะการจัดวางภาพเป็นภาพที่เขียนอยู่ระหว่างช่องหน้าต่าง ใช้โทนสีเข้มออกดำ รวมทั้งลักษณะภาพศพที่เขียนใบหน้าเสมือนจริง ส่วนการเขียนภาพธรรมชาติทั้งต้นไม้และโขดหิน รวมทั้งพระสงฆ์เขียนแบบตามประเพณีที่มีรูปแบบคล้ายวัดทุ่งทอง อำเภอหนองฉาง จังหวัดอุทัยธานี ทำให้มีผู้สันนิษฐานว่าอาจจะเป็นช่างเขียนคนเดียวกัน ซึ่งมีความนิยมในการเขียนภาพอสุภกรรมฐาน ๑๐  ซึ่งเกิดจากการนำรูปแบบของวัดอุโปสถารามที่เขียนในช่วงครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ ๒๕ มาเป็นแม่แบบ เนื่องจากความสำคัญของวัดอุโปสถารามในช่วงเวลานั้นเป็ฯวัดที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จประพาสมาที่วัดแห่งนี้ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๔

ฐานและซุ้มประดิษฐานใบเสมาทั้ง ๘ ทิศ

ใบเสมาปูนปั้นทาสี บริเวณเอวเสมาคอด  ข้างเสมาเป็นรูปเศียรนาค  ส่วนยอดทำเป็นทรงปริก  บริเวณบ่าเสมาทำบัวคอเสื้อเป็นรูปกระจังตาอ้อย  กลางอกเป็นรูปดอกไม้อย่างเทศ  เชิงเสมาเป็นฐานรูปสี่เหลี่ยมรองรับรูปเทพพนม  ซึ่งประดับอยู่ในแนวเดียวกับสาบตรงกลางเสมา ใบเสมาทางทิศตะวันออกและตะวันตกของอุโบสถ ประดิษฐานอยู่ในซุ้มเสมาก่ออิฐถือปูนทรงมณฑปยอดสถูปมีลวดลายปูนปั้นและการทาสีตกแต่ง  ส่วนใบเสมาด้านทิศอื่นๆ ประดิษฐานอยู่บนฐานเสมาแบบนั่งแท่นเป็นฐานสิงห์ก่ออิฐถือปูนรองรับฐานรูปดอกบัวประดิษฐ์มีการทาสีตกแต่ง

Skip to content
ข้ามไปยังทูลบาร์